โปรตีนเกษตร...อาหารคู่บุญคู่เทศกาลกินเจ
ขออินเทรนด์สักหน่อยด้วยเรื่องมีสาระกับเทศกาลกินเจ นอกจากผู้ที่กินเจจะถือศีล และเว้นจากการกินเนื้อสัตว์แล้ว แต่หันไปบริโภคผัก และธัญพืชแทน แต่ทำไมหน้าตาอาหารเจกลับดูน่าทานน่าซื้อ แถมยังดูเหมือนมีเนื้อหมู เนื้อไก่ และอาหารทะเลผสมอยู่!
อย่าตกใจไปเลยค่ะ เพราะที่เราเห็นๆ กันไม่ว่าจะมีลักษณะเหมือนเนื้อสัตว์ยังไง ขอยืนยันร้อยเปอร์เซ็นต์ว่ามันไม่ใช่เนื้อ แต่เป็นโปรตีนเกษตร! สงสัยกันแล้วละสิว่าโปรตีนเกษตรเกี่ยวข้องยังไงกับเทศกาลกินเจ
มาหาคำตอบกันค่ะ!
โปรตีนเกษตรคืออะไร?
โปรตีนเกษตรหรือที่เรียกว่า Textured Soy Protein(TVP) คือผลิตภัณฑ์ที่หลงเหลือจากกระบวนการทำน้ำมันถั่วเหลือง ซึ่งโปรตีนเกษตรในตอนแรกจะมีลักษณะเป็นผงแป้งละเอียด แต่เมื่อเติมน้ำลงไปจะจับตัวเป็นก้อน และเป็นรูปร่างมากขึ้น ผิวสัมผัสจะมีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์ ทำให้โปรตีนเกษตรกลายเป็นอาหารที่มาทดแทนเนื้อสำหรับผู้ที่เป็นมังสวิรัติและรับประทานอาหารเจ
โปรตีนเกษตรในลักษณะแป้งเนื้อละเอียด
แล้วเอาโปรตีนเกษตรมาทำอะไรบ้าง?
ด้วยความที่ผิวสัมผัสคล้ายเนื้อสัตว์ แต่ทำมาจากถั่วเหลืองจึงเป็นที่นิยมและถูกนำมาดัดแปลงรูปร่างให้มีความเหมือนเนื้อยิ่งขึ้น อย่างเช่น เบคอนโปรตีนเกษตร ไส้กรอกโปรตีนเกษตร นักเก็ตโปรตีนเกษตร เป็นต้น พ่อค้าแม่ขายต่างดัดแปลงโปรตีนเกษตรให้เข้ากับอาหารต่างๆเอาใจคนกินเจและผู้ที่เป็นมังสวิรัติ เพื่อหน้าตาอาหารจะได้ดูน่ากินและไม่จำเจ
แล้วข้อเสียของโปรตีนเกษตรละ?
ถึงแม้โปรตีนเกษตรจะทำมาจากถั่วเหลือง 100 เปอร์เซ็นต์และไม่มีเนื้อผสมอยู่ แต่อาหารชนิดนี้ก็ยังเป็นอาหารแปรรูป แม้ว่าว่าคุณค่าทางสารอาหารที่อุดมในถั่วเหลือง เช่น โปรตีน หรือไอโซฟลาโวน (isoflavones) ที่มีฤทธิ์ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ส่งผลต่อการป้องกันโรคหัวใจ และหลอดเลือด เป็นต้น อาจจะหายหรือเปลี่ยนสภาพในช่วงกระบวนการผลิต แต่ในขณะเดียวกันพวกสารพิษตกค้าง และสารปนเปืออื่นๆจะไม่หายไปช่วงการผลิต แต่ไม่ได้หมายความว่าการรับประทานโปรตีนเกษตรจะอันตรายถึงชีวิต ยังสามารถรับประทานได้ตลอดแต่ในปริมาณที่พอเหมาะเท่านั้น
แยกไม่ออกกันเลยทีเดียว ดูเหมือนเนื้อไก่มาก
แล้วสรุปโปรตีนเกษตรดีจริงไหม?
โปรตีนเกษตรดีต่อผู้ที่ไม่รับประทานเนื้อแต่อยากเพิ่มรสชาติและสีสันให้อาหารดูน่าทานมากยิ่งขึ้น แต่ด้วยความที่โปรตีนเกษตรเป็นอาหารที่ถูกแปรรูปมา ดังนั้นคุณค่าทางอาหารต่างๆอาจจะลดน้อยลงไป แต่ก็ดีกว่ากินเนื้อสัตว์ในปริมาณที่มากเกินควร
ที่มา: quickanddirtytips